กรมศุลกากรบูรณาการร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม การตรวจยึดเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งเข้าข่ายเป็นของเสียอันตราย ตามอนุสัญญาบาเซลฯ น้ำหนัก 238 ตัน มูลค่ากว่า 18 ล้านบาท

วันนี้ (14 พฤษภาคม 2568) เวลา 15.00 น. นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร พร้อมด้วย นายเอกวุฒิ นาเอก ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ นางสาวช่อฉัตร หอวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า ร่วมกับนายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นายกฤษดา สุขการีย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเรือและสินค้า การท่าเรือแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวกรมศุลกากรบูรณาการร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมการตรวจยึดเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งเข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซลฯ น้ำหนัก 238 ตัน มูลค่ากว่า 18 ล้านบาท ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ กรมศุลกากร

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการตรวจยึดในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพและกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าที่เข้าข่ายของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซล โดยได้ตรวจสอบตู้สินค้าที่สำแดงเป็นเศษอะลูมิเนียมที่ยังไม่คัดแยก (MIXED METAL SCRAP: ALUMINIUM, COPPER, IRON) ประเทศต้นทางจากสหรัฐอเมริกา มูลค่าสำแดง 519,278.18 USD หรือ 17,592,261.97 บาท น้ำหนักสุทธิ 238,201 กิโลกรัม บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 10 ตู้ ผลการตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ น้ำหนักตรงตามสำแดง

ซึ่งจัดเป็นของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด
กรณีนี้เป็นการนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด ด้วยการสำแดงชนิดของ และประเภทพิกัดเป็นเท็จ เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด ตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 บัญชีที่ 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ ลำดับที่ 2.18 และอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรจะบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ในการควบคุมและป้องกันการนำของเสียอันตรายเข้าสู่ประเทศ เพื่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

3rd anniversary of 'Passions News,'